ท่านอาจารย์ สัตยา นารายัน โกเอ็นก้า

ประวัติ

S.N. Goenka
สัตยา นารายัน โกเอ็นก้า (S.N.GOENKA) คือ ฆราวาสผู้เป็นวิปัสสนาจารย์เอกในยุคปัจจุบัน

ท่านอาจารย์โกเอ็นก้ามีเชื้อสายอินเดีย ถือกำเนิดและเติบโตในประเทศพม่า (เมียนมาร์ในปัจจุบัน) ท่านเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และเป็นผู้นำชุมชนชาวอินเดียในพม่าตั้งแต่วัยหนุ่ม เมื่อท่านอายุ 31 ปึท่านมีโอาสได้พบท่านอาจารย์ซายาจี อูบาขิ่น และได้ฝึกวิปัสสนากับท่านอาจารย์ของท่านเป็นเวลา 14 ปี หลังจากนั้นท่านอาจารย์โกเอ็นก้าได้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ประเทศอินเดีย และเริ่มต้นสอนการปฏิบัติวิปัสสนาในปี 2512 แม้อินเดียเป็นประเทศที่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะและศาสนาอย่างชัดเจน แต่ด้วยวิธีการสอนการปฏิบัติวิปัสสนาที่เป็นสากล ท่านอาจารย์สามารถดึงดูดผู้คนจำนวนหลายพันจากทุกส่วนของสังคมในเวลาไม่นาน นอกจากนี้ ในเวลาต่อมาผู้คนจากหลายประเทศทั่วโลกได้เดินทางมาเข้าร่วมการอบรมวิปัสสนาด้วย

ในระยะเวลาเกือบ 45 ปี มีผู้มาเข้ารับการอบรบในหลักสูตร 10 วันที่สอนโดยท่านอาจารย์โกเอ็นก้าและอาจารย์ผู้ช่วยสอนที่ท่านแต่งตั้งขึ้น เป็นจำนวนนับแสนคนทั้งในประเทศอินเดียและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ปัจจุบันมีศูนย์วิปัสสนาตามแนวทางการสอนของท่านอยู่ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป อเมริกา แอฟริกา และออสเตรเลีย และมีหลักสูตรการอบรบ 10 วันในแต่ละศูนย์ฯ ตลอดทั้งปี

วิธีปฏิบัติที่สอนโดยท่านอาจารย์โกเอ็นก้า เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งสืบทอดมากว่า 2500 ปี พระพุทธองค์ไม่เคยแบ่งแยกลัทธินิกาย ทรงสอนธรรมะซึ่งเป็นหนทางสู่การหลุดพ้นที่เป็นสากล ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าได้เดินตามเส้นทางอันเป็นสากลนี้โดยไม่มีการแบ่งแยกลัทธินิกาย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีผู้สนใจเข้ารับการอบรมจากทุกศาสนาและจากทุกมุมโลก

️ตลอดชีวิตของท่านอาจารย์โกเอ็นก้า ท่านได้รับเกียรติและรางวัลมากมาย รวมถึงรางวัล Padma Awards จากประธานาธิบดีของอินเดียในปี 2555 ซึ่งเป็นหนึ่งในรางวัลอันทรงเกียรติสูงสุดที่รัฐบาลอินเดียมอบให้พลเรือน

️ท่านอาจารย์โกเอ็นก้า ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2556 ด้วยอายุ 89 ปี ท่านทิ้งสมบัติล้ำค่า คือวิธีการปฏิบัติวิปัสสนา ซึ่งปัจจุบันนี้ได้แพร่หลายอย่างกว้างขวางไปทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน


การประชุมสุดยอดสันติภาพ ณ สหประชาชาติ

️ในการประชุมสุดยอดสันติภาพโลกแห่งสหัสวรรษ (Millennium World Peace Summit) เมื่อปี 2543 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติในนครนิวยอร์ก ท่านอาจารย์โกเอ็นก้า เป็นหนึ่งในผู้นำทางศาสนาและผู้นำทางจิตวิญญาณของโลกที่ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาในที่ประชุมสุดยอดสันติภาพโลกที่สำคัญนี้

️ปาฐกถาของท่านอาจารย์โกเอ็นก้าในการประชุมสุดยอดสันติภาพโลกแห่งสหัสวรรษ

โดย บิล ฮิกกินส์
วันที่: 29 สิงหาคม 2543
S. N. Goenka at U.N.
ขอบคุณภาพ จาก Beliefnet, Inc.

️นิวยอร์ก – ท่านอาจารย์โกเอ็นก้ากำลังกล่าวปาฐกถาในการประชุมสุดยอดสันติภาพโลกแห่งสหัสวรรษ (Millennium World Peace Summit) ณ ห้องประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติ – ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกของผู้นำทางศาสนาและผู้นำทางจิตวิญญาณของสหประชาชาติ

️ท่านอาจารย์โกเอ็นก้ากล่าวปาฐกถาในหัวข้อเรื่อง การเปลี่ยนแปลงความขัดแย้ง (Conflict Transformation) โดยมุ่งเน้นไปที่รูปแบบของความปรองดองกันระหว่างศาสนา การยอมรับซึ่งกันและกัน และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

️ท่านอาจารย์โกเอ็นก้ากล่าวว่า "แทนที่จะให้คนเปลี่ยนศาสนา เราควรเปลี่ยนเขาจากความทุกข์สู่ความสุข จากการถูกพันธนาการสู่การหลุดพ้น จากความทารุณโหดร้ายสู่ความเมตตากรุณา"

️ท่านอาจารย์โกเอ็นก้ากล่าวปาฐกถาในการประชุมช่วงบ่าย ที่มีผู้เข้าร่วมประชุมและผู้สังเกตการณ์กว่า 2000 คน ท่านอาจารย์โกเอ็นก้ากล่าวในช่วงต่อจากนายเท็ด เทอร์เนอร์ ผู้ก่อตั้ง CNN และเป็นหนึ่งในผู้อุปถัมภ์ทางการเงินของการประชุมสุดยอดครั้งนี้

️เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการแสวงหาสันติภาพของการประชุมสุดยอด ท่านอาจารย์โกเอ็นก้ากล่าวเน้นในปาฐกถาว่า "สันติสุขจะไม่เกิดขึ้นในโลก เมื่อผู้คนยังมีความโกรธและความเกลียดชังในจิตใจ มีเพียงความรักและความเมตตาเท่านั้น ที่จะทำให้สันติภาพเกิดขึ้นได้"

️วาระสำคัญของการประชุมสุดยอดคือความพยายามในการลดความขัดแย้งระหว่างลัทธินิกาย เกี่ยวกับเรื่องนี้ท่านอาจารย์โกเอ็นก้ากล่าวว่า "เมื่อมีความโกรธและความเกลียดชังในใจ บุคคลนั้นจะมีแต่ความทุกข์ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นชาวคริสเตียน ฮินดู หรือมุสลิม"

️ท่ามกลางเสียงปรบมือดังกึกก้อง ท่านกล่าวต่อไปว่า "ผู้ที่มีความรักและความเมตตาด้วยจิตที่บริสุทธิ์ จะได้พบกับสวรรค์ในใจ นี่คือกฎของธรรมชาติ หรืออาจกล่าวว่าเป็นคำบัญชาจากพระเจ้า"

การที่มีผู้นำทางศาสนาที่สำคัญของโลกมารวมตัวกันเช่นนี้ เป็นโอกาสอันดีที่ท่านอาจารย์ได้กล่าววิงวอนว่า "ขอให้เรามุ่งเน้นไปที่แก่นแท้ ที่เหมือนกันของทุกศาสนา นั่นคือความบริสุทธิ์ของจิตใจ เราทั้งหลายควรให้ความสำคัญกับแก่นแท้นี้ และหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในส่วนที่เป็นเปลือกนอกของศาสนา ซึ่งได้แก่พิธีทางศาสนา พิธีกรรม เทศกาล และความเชื่อ”

ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าได้ยกคำกล่าวของพระเจ้าอโศกมหาราชจากศิลาจารึกมาสรุปดังนี้ “เราไม่ควรยกย่องเฉพาะศาสนาของเราเอง และประณามศาสนาอื่น มีเหตุผลหลายประการที่สนับสนุนว่าทำไมเราควรให้เกียรติศาสนาอื่นแทน การทำเช่นนี้จะช่วยให้ศาสนาของเราเติบโต และเป็นการช่วยเหลือให้ศาสนาอื่นได้ประโยชน์ด้วย หากปฏิบัติตรงข้ามจากนี้จะเป็นการขุดหลุมฝังศาสนาของเราเอง และจะเป็นอันตรายต่อศาสนาอื่นด้วย ผู้ที่ยกย่องแต่ศาสนาของตนเองและเหยียดหยามศาสนาอื่น อาจทำไปด้วยความเลื่อมใส โดยคิดว่า “ฉันจะสรรเสริญศาสนาของฉัน” แต่การกระทำของเขากลับสร้างความวิบัติให้กับศาสนาของตน มิตรภาพเป็นสิ่งที่ดี ขอให้ทุกคนเปิดใจรับฟังกัน และเต็มใจที่จะรับฟังคำสอนของศาสนาอื่น”

️เลขาธิการสหประชาชาติ นายโคฟี อันนัน ได้เรียกการประชุมสุดยอดนี้ว่า "การรวมตัวกันของผู้นำทางศาสนาและจิตวิญญาณที่มีชื่อเสียงระดับโลก เพื่อร่วมกันเรียกร้องให้เกิดสันติภาพ ซึ่งเป็นความหวังในการเสริมสร้างสันติภาพโลก เมื่อเราก้าวเข้าสู่สหัสวรรษใหม่"

️ผู้นำทางจิตวิญญาณที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมครั้งแรกนี้ของสหประชาชาติ ได้แก่ Pramukh Swami of Swaminarayan Movement, Swami Dayananda Saraswati, Swami Agnivesh, Mata Amritanandamayi Devi และ Dada Vaswani รวมทั้งนักวิชาการที่มีชื่อเสียงเช่น Dr. Karan Singh และ L. M. Singhvi

เมื่อกล่าวถึงความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรมของผู้เข้าร่วมประชุม นายโคฟี อันนัน ได้กล่าวว่า "สหประชาชาติมิได้เป็นเพียงศูนย์รวมของผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติ แต่รวมถึงความหลากหลายทางศาสนาและลัทธินิกาย เราจะเห็นได้จากชุดสูทและส่าหรี เสื้อคลุมบาทหลวง จีวรหลากสีของพระและแม่ชี หมวกพระคริสต์ สกัลแคปชาวยิว"

️แม้ว่าโคฟี อันนัน จะถูกถามคำถามบ่อยครั้งว่า ทำไมผู้นำทิเบตไม่เข้าร่วมประชุมด้วย เขาได้พยายามโน้มน้าวความสนใจของผู้ถามไปที่ประเด็นเป้าหมายของการประชุมสุดยอด ซึ่งเขากล่าวว่า "เพื่อฟื้นฟูศาสนาให้กลับมามีบทบาทที่ถูกต้องในฐานะผู้สร้างสันติภาพและความสงบสุข - ปัญหาความขัดแย้งไม่ได้เกิดจากคัมภีร์ไบเบิล โทราห์ หรืออัลกุรอาน แท้จริงแล้ว ปัญหาไม่ได้มาจากศรัทธา แต่มาจากเหล่าสาวกและวิธีที่เราปฏิบัติต่อกัน ผู้นำทางศาสนาทั้งหลายจึงจำเป็นต้องสอนเหล่าสาวกของท่านถึงวิถีทางแห่งสันติสุขและความปรองดอง”

️เนื่องจาก 83% ของประชากรโลกนับถือ ศรัทธา และมีความเชื่อทางศาสนา นายโคฟี อันนัน จึงหวังว่าผู้นำทางศาสนาทั้งหลายจะสามารถโน้มน้าวสาวกของพวกเขาให้หันหน้าเข้าหาสันติภาพได้

️สหประชาชาติมีความหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนของประชาคมโลก ตามข้อความในเอกสารที่เคยบันทึกไว้ว่า "เราควรตระหนักว่า จิตของมนุษย์มีศักยภาพและมีพลัง ที่สามารถขจัดสงครามซึ่งเป็นสิ่งอำมหิตทารุณที่เลวร้ายที่สุด และขจัดความยากจนซึ่งเป็นหนึ่งในต้นเหตุของสงคราม ถึงเวลาแล้วที่ผู้นำทางศาสนาของโลกต้องร่วมมือกับสหประชาชาติให้มากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนของมนุษยชาติ"

️การประชุมสุดยอดจะสิ้นสุดลงในอีกสองวันนี้ เมื่อผู้เข้าร่วมประชุมลงนามในปฏิญญาสันติภาพโลก และจัดตั้งสภาที่ปรึกษาระหว่างประเทศของผู้นำศาสนาและจิตวิญญาณ ซึ่งจะทำงานร่วมกับสหประชาชาติและเลขาธิการสหประชาชาติในการสร้างและรักษาสันติภาพในโลก

️Bawa Jain เลขาธิการของที่ประชุมสุดยอดสันติภาพโลกกล่าวว่า "เป้าหมายของสภาที่ปรึกษาระหว่างประเทศของผู้นำศาสนาและจิตวิญญาณคือการส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของสหประชาชาติ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งขึ้น ผู้นำทางศาสนาและจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่ของโลกจะสามารถช่วยแสวงหาทางออกที่ไม่ใช้ความรุนแรง"



ปาฐกถาระหว่างการประชุมสหประชาขาติ

ต่อไปนี้เป็นปาฐกถาของท่านอาจารย์โกเอ็นกาแก่ผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดสันติภาพโลกสหัสวรรษ Millennium World Peace Summit เมื่อวันอังคารที่ 29 สิงหาคม 2543 ณ ห้องประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติ ฉบับสมบูรณ์

ความเข้าใจสากลเรื่องจิตวิญญาณเพื่อสันติภาพ โดย ท่านอาจารย์โกเอ็นก้า

วันที่: 29 สิงหาคม 2543

เราต้องการแสงสว่างท่ามกลางความมืด ทุกวันนี้โลกเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานจากความขัดแย้งรุนแรง สงคราม และการนองเลือด โลกกำลังโหยหาสันติภาพและความสามัคคี  นี่คือความท้าทายที่ยิ่งใหญ่สำหรับผู้นำศาสนาและผู้นำจิตวิญญาณ ขอให้เราร่วมกันเผชิญกับความท้าทายนี้

ทุกศาสนามีทั้งเปลือกนอกและแก่นแท้ที่เป็นสาระสำคัญ เปลือกนอกประกอบด้วยพิธีกรรม พิธีการ ความเชื่อ ตำนาน และหลักวินัยบังคับ สิ่งเหล่านี้มีความแตกต่างในแต่ละศาสนา แต่จะมีแก่นแท้ที่เหมือนกันในทุกศาสนา คือคำสอนที่เป็นหลักสากลเกี่ยวกับศีลธรรมและการแบ่งปัน เกี่ยวกับจิตที่บริสุทธิ์ มีวินัย เต็มไปด้วยความรัก ความเมตตา ความปรารถนาดี และมีขันติ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของทุกศาสนาที่ผู้นำศาสนาควรใส่ใจ และสาวกควรจะปฏิบัติตาม หากเราเน้นความสำคัญที่แก่นแท้ของศาสนาและไม่ใส่ใจในความแตกต่างของเปลือกนอกที่ไม่ใช่สาระ ความขัดแย้งจะลดลง

ทุกคนต้องมีอิสระที่จะนับถือและปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาที่ตนมีความศรัทธา อย่างไรก็ดี ในการทำเช่นนั้น พวกเขาต้องระวังที่จะไม่ละเลยการปฏิบัติตามแก่นแท้ของศาสนาตน และการปฏิบัติของตนจะต้องไม่สร้างปัญหาให้ผู้อื่น ไม่ตำหนิหรือดูถูกศาสนาอื่น

ท่ามกลางความหลากหลายของศาสนาต่างๆ เราจะก้าวข้ามความแตกต่าง และวางแผนสู่สันติสุขอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร แม้ในสมัยพุทธกาลก็เคยมีผู้คนหลากหลายทูลถามพระพุทธเจ้าว่าควรทำอย่างไร พระพุทธองค์ทรงตอบว่า "ให้เราเอาความแตกต่างนั้นๆ วางไว้ก่อน และให้ความสนใจกับสิ่งที่เราเห็นตรงกัน และนำไปปฏิบัติ ทำไมจะต้องทะเลาะกัน" คำแนะนำอันประเสริฐนี้ยังทรงคุณค่าในปัจจุบัน

ข้าพเจ้ามาจากดินแดนซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของคำสอนทางปรัชญาและศาสนาอันเก่าแก่หลายพันปี แม้จะมีเหตุการณ์ความรุนแรงประปราย ประเทศอินเดียก็ยังคงเป็นแบบอย่างของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เมื่อประมาณ 2300 ปีก่อนหน้านี้อินเดียภายใต้การปกครองของพระเจ้าอโศกมหาราช จักรวรรดิอันกว้างใหญ่ไพศาลตั้งแต่อัฟกานิสถานในปัจจุบันไปจนถึงบังคลาเทศ ตลอดรัชสมัยของพระองค์ทรงพระกรุณาให้จารึกคำประกาศไว้บนศิลาว่า คนทุกคนควรเคารพศาสนาอื่น จึงส่งผลให้สาวกของแต่ละศาสนารู้สึกปลอดภัยภายใต้การปกครองของพระองค์ พระองค์ขอให้ประชาชนใช้ชีวิตอย่างมีศีลธรรม เคารพผู้ปกครองและผู้อาวุโส งดเว้นจากการเข่นฆ่า คำประกาศของพระเจ้าอโศกยังทรงอิทธิพลอยู่ในปัจจุบัน

เราไม่ควรยกย่องเฉพาะศาสนาของเราเองและประณามศาสนาอื่น
มีเหตุผลหลายประการที่สนับสนุนว่าทำไมเราควรให้เกียรติศาสนาอื่นแทน
เพราะการให้เกียรติศาสนาอื่นจะช่วยให้ศาสนาของเราเติบโต และเป็นการช่วยเหลือให้ศาสนาอื่นได้ประโยชน์ด้วย
หากปฏิบัติตรงข้ามจากนี้จะเป็นการขุดหลุมฝังศาสนาของเราเอง และจะเป็นอันตรายต่อศาสนาอื่นด้วย
ผู้ที่ยกย่องแต่ศาสนาของตนเองและเหยียดหยามศาสนาอื่น อาจทำไปด้วยความเลื่อมใส โดยคิดว่า
“ฉันจะสรรเสริญศาสนาของฉัน” แต่การกระทำของเขากลับสร้างความวิบัติให้กับศาสนาของตน
มิตรภาพเป็นสิ่งที่ดี ขอให้ทุกคนเปิดใจรับฟังกัน และเต็มใจที่จะรับฟังคำสอนของศาสนาอื่น (ศิลาจารึก
เลขที่ 12)

จักรพรรดิอโศกเป็นกษัตริย์ที่แสดงถึงวิถีการปกครองที่ประชาชนที่มีภูมิหลังแตกต่างกันสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและสอดคล้องกลมเกลียว ซึ่งเป็นแบบอย่างให้กับรัฐบาลและผู้นำหลายประเทศในปัจจุบัน ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นคือราชวงศ์แห่งประเทศโอมานผู้เคยบริจาคที่ดินให้กับโบสถ์และวัดของศาสนาอื่นในขณะที่พระองค์ยังทรงภักดีต่อศาสนาของพระองค์เอง ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะมีผู้ปกครองบ้านเมืองที่มีความกรุณาเช่นนี้มากขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ดังคำกล่าวที่ว่า "ผู้สร้างสันติสุขจะได้รับพร ว่าเป็นบุตรของพระเจ้า"

เป็นที่กระจ่างชัดว่าบรรดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงมักทำร้ายพวกพ้องเดียวกัน พวกเขาอาจทำเช่นนั้นโดยตรงจากความใจแคบ หรือโดยทางอ้อมด้วยการไปกระตุ้นให้คนเกิดปฏิกิริยาตอบโต้ที่รุนแรง ในทางกลับกันมีคำกล่าวว่า "ผู้กรุณาปราณีจะได้รับพรเป็นความกรุณา” นี่คือกฎธรรมชาติ หรือเรียกว่าเป็นคำบัญชาจากพระเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ความเกลียดชังไม่สามารถถูกกำจัดได้ด้วยความเกลียดชัง แต่ด้วยการกระทำตรงข้าม นี้เป็นกฎธรรมะสากล” สิ่งที่เรียกว่าธรรมะในอินเดียไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับศาสนาฮินดู พุทธ เชน คริสต์ อิสลาม ยิว ซิกข์ หรือศาสนาใดๆทั้งสิ้น นี่คือความจริงที่เข้าใจง่าย กล่าวคือ ก่อนที่บุคคลจะทำร้ายผู้อื่น เขาได้ทำร้ายตัวเองด้วยการสร้างอกุศลให้เกิดขึ้นในใจ และด้วยการขจัดความไม่บริสุทธิ์นั้นออกไป เขาจะพบความสงบภายในและนั่นจะเป็นพลังเสริมสร้างสันติภาพในโลก

ความสงบในใจเพื่อสันติสุขของโลก

ศาสนาจะมีคุณค่าเมื่อผู้คนที่นับถือศาสนานั้นใช้ชีวิตอย่างมีศีลธรรมและจริยธรรม เมื่อผู้คนสามารถควบคุมจิตใจ และพัฒนาจิตให้บริสุทธิ์ บ้างกล่าวว่า "ให้รักเพื่อนบ้าน" บ้างก็กล่าวว่า “ซาลัม อาลัยกุม - ขอความสงบอยู่กับท่าน" อีกก็กล่าวว่า “ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง - ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายมีความสุข" ไม่ว่าจะเป็นคัมภีร์ไบเบิ้ล คัมภีร์อัลกุรอ่าน หรือภควัทคีตา คัมภีร์ทั้งหลายล้วนชี้ทางสู่สันติภาพและความเป็นมิตร ไม่ว่าจะเป็นพระมหาวีระหรือพระเยซู ผู้ก่อตั้งศาสนาทั้งหลายล้วนเป็นต้นแบบของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ปัจจุบันโลกของเราถูกขับเคลื่อนโดยความขัดแย้งทางศาสนาและลัทธินิกายจนถึงขั้นเกิดสงคราม เพราะเราให้ความสำคัญแต่เปลือกนอกโดยละเลยแก่นแท้ของศาสนา ส่งผลให้ขาดความรักความเมตตากรุณาในจิตใจ

สันติสุขในโลกไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากบุคคลยังไม่มีความสงบ ความปั่นป่วนในจิตใจและความสงบไม่สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้ หนทางหนึ่งที่จะนำมาซึ่งความสงบในจิตใจคือการปฏิบัติวิปัสสนา ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติที่เป็นวิทยาศาสตร์ ให้ผลดีโดยไม่แบ่งลัทธินิกาย เป็นการสังเกตความจริงภายในตนเอง ทำให้เกิดความเข้าใจว่าจิตและกายมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ประสบการณ์ตรงจะทำให้เห็นว่า ทุกครั้งที่ความรู้สึกในทางลบเกิดขึ้นในใจ เช่นความเกลียดชัง ก็จะก่อให้เกิดความรู้สึกไม่สบายภายในกาย

อินเดียโบราณเป็นแหล่งกำเนิดของแนวทางปฏิบัติเก่าแก่สองวิธี วิธีแรกคือการฝึกโยคะอาสนะและปราณายามหรือการควบคุมลมหายใจ เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพดี อีกวิธีหนึ่งคือการฝึกบริหารจิตด้วยการปฏิบัติวิปัสสนาเพื่อสุขภาพจิตที่ดี การปฏิบัติทั้งสองวิธีนี้ไม่จำกัดศาสนา จึงสามารถนับถือศาสนาของตนต่อไปและปฏิบัติได้โดยไม่ขัดแย้งกัน  ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนศาสนา ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

สังคมจะสงบสุขเมื่อผู้คนในสังคมจำนวนมากขึ้นมีความสงบสุข ในฐานะผู้นำ ความรับผิดชอบของเราคือทำตนเป็นแบบอย่างและเป็นแรงบันดาลใจ นักปราชญ์กล่าวไว้ว่า "จิตที่สมดุลเท่านั้นจะสามารถปรับจิตที่ไม่สมดุลของผู้อื่นได้"

ในภาพกว้าง สังคมที่สงบสุขจะหาหนทางที่จะอยู่อย่างสงบและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ เราทุกคนเข้าใจถึงความจำเป็นในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและหยุดสร้างมลภาวะ แต่อุปสรรคของเราคือ การสะสมมลพิษในจิตใจ เช่นความไม่รู้ ความโกรธ ความเกลียด หรือความโลภ การกำจัดมลพิษดังกล่าวออกจากใจจะช่วยส่งเสริมความสงบสุขให้เกิดขึ้น นอกเหนือจากนั้น สังคมมนุษย์จะมีความสัมพันธ์ที่สมดุลและดีงามกับสิ่งแวดล้อม ในการนี้ศาสนาจึงมีบทบาทผลักดันให้เกิดการรักษาสิ่งแวดล้อม

หัวใจของศาสนาต้องปราศจากความรุนแรง

ความแตกต่างระหว่างศาสนาเป็นเรื่องปกติ การที่ผู้นำศาสนาหลักๆของโลกได้มาประชุมสุดยอดสันติภาพโลกครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าจะมีการร่วมมือกันเพื่อให้เกิดสันติภาพ ขอให้ความสงบสุขจงเป็นพื้นฐานหลักของ "ศาสนาที่เป็นสากล" ขอให้เราร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ว่าเราจะละเว้นจากการเข่นฆ่าและประณามการใช้ความรุนแรง ขอเรียกร้องให้ผู้นำทางการเมืองร่วมกันประกาศเจตนารมณ์นี้ เนื่องจากท่านเหล่านั้นมีบทบาทสำคัญในอันที่จะก่อให้เกิดสันติภาพหรือสงคราม ไม่ว่าเราจะได้รับความร่วมมือหรือไม่ก็ตาม อย่างน้อยก็ขอให้ทุกท่านในที่ประชุมนี้ร่วมมือกันประกาศว่าเราจะประณามการกระทำดังกล่าวอย่างไม่มีเงื่อนไขและจะไม่ยอมรับความรุนแรงและการเข่นฆ่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างศาสนา

ผู้นำทางศาสนาบางท่านมีจิตสำนึกที่ดีและมีความกล้าหาญพอที่จะประณามความรุนแรงของคนบางกลุ่มอันเกิดจากความศรัทธาในศาสนาของตน เราอาจมีมุมมองที่แตกต่างกันในเรื่องการให้อภัยในการใช้ความรุนแรง เข่นฆ่า ถึงมุมมองจะต่างกันอย่างไร แต่มันก็คือความรุนแรง ซึ่งเราจะต้องไม่ยอมรับ

ภายใต้การคุ้มครองของสหประชาชาติ ขอให้เราร่วมมือกันกำหนดทิศทางของศาสนาที่ต้องปฏิเสธความรุนแรงและการเข่นฆ่ากัน ถ้าศาสนาไม่สามารถนำไปสู่ความสงบสุข นับว่าเป็นความล้มเหลวและโชคร้ายที่สุดของมวลมนุษยชาติ การประชุมสุดยอดในครั้งนี้ควรจะนำเสนอแนวคิดของ "ศาสนาที่เป็นสากล" หรือ "ความศรัทธาที่ไม่มีลัทธินิกาย” ที่รองรับโดยสหประชาชาติ

ข้าพเจ้ามั่นใจว่าการประชุมครั้งนี้จะช่วยให้โลกหันมาสนใจแก่นแท้ของศาสนา:

ศาสนามิได้แบ่งแยกเราออกจากกัน
แต่ชี้ทางสู่ความสงบและจิตที่บริสุทธิ์

ข้าพเจ้าขอแสดงความยินดีกับคณะผู้จัดที่มีวิสัยทัศน์และได้ทุ่มเทเพื่อให้เกิดการจัดประชุมครั้งประวัติศาสตร์นี้ ข้าพเจ้าขอแสดงความยินดีกับผู้นำทางศาสนาและผู้นำทางจิตวิญญาณที่มีวุฒิภาวะและความพร้อมที่จะขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ เราจะไม่สิ้นหวังว่าศาสนาจะนำไปสู่อนาคตที่สงบสุขของมวลมนุษยชาติ

ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย ปราศจากความเกลียดชัง และพบความสุข

ขอให้โลกมีแต่ความสงบสุข และความสมานฉันท์