ข้อความต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของคำปราศรัยของท่านอาจารย์โกเอ็นก้า ในการอภิปรายในเวทีเศรษฐกิจโลก ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2543 ว่าด้วยเรื่องการปฏิบัติวิปัสสนา ซึ่งสามารถก้าวข้ามความเชื่อและพื้นฐานทางวัฒนธรรม แสดงให้เห็นถึงแก่นแท้ของศาสนา
เป็นการดีที่วันนี้เราได้มาสนทนากันในเรื่องศาสนาในแง่มุมต่างๆ ไม่จำกัดว่าเป็นศาสนานี้หรือศาสนานั้น แต่เป็นศาสนาโดยองค์รวม
ศาสนาประกอบด้วยสองส่วนที่สำคัญ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือแก่นแท้ของศาสนา แก่นแท้ของศาสนานี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เป็นแนวทางให้เราดำรงชีวิตอย่างมีศีลธรรม เปี่ยมด้วยความรัก ความเห็นอกเห็นใจ ความปรารถนาดี และความอดทนอดกลั้น
โดยพื้นฐานแล้วทุกศาสนาสอนเรื่องศีลธรรม ซึ่งถือว่าเป็นคุณธรรมหลักที่สำคัญที่สุดของทุกศาสนา
ชีวิตที่ดำเนินไปด้วยศีลธรรม เป็นชีวิตที่บุคคลหนึ่งละเว้นจากการทำความบาปทั้งปวง ไม่ว่าจะทางกายหรือทางวาจา ซึ่งจะไปรบกวนความสงบสุขและความสมานฉันท์ของผู้อื่น เป็นชีวิตที่ปราศจากกิเลส เช่น ความโกรธ ความเกลียดชัง ความไม่สบายใจ และความมุ่งร้าย
ชีวิตที่ดำเนินไปด้วยศีลธรรม เป็นชีวิตทางธรรมที่แท้จริง ทำให้ให้บุคคลนั้นมีชีวิตอยู่อย่างสงบสุขและสอดคล้องกลมกลืนภายในตัวเอง และกับผู้อื่น
การดำเนินชีวิตทางธรรมที่แท้จริงเป็น "ศิลปะแห่งการดำรงชีวิต" มีจรรยาบรรณในการประพฤติปฏิบัติตน เป็นชีวิตที่มีความสุข ความสอดคล้องกลมเกลียว ขีวิตที่มีคุณค่า เป็นการดำเนินชีวิตที่ดีทั้งต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อมวลมนุษยชาติ
ผู้ที่เลื่อมใสในศาสนาที่แท้จริง เป็นผู้ที่มีศรัทธา มีศีลธรรม มีระเบียบวินัย มีจิตใจที่บริสุทธิ์ เปี่ยมด้วยความรักและความเมตตา บุคคลเหล่านี้เป็นดังอัญมณีอันล้ำค่าของสังคม ไม่ว่าเขาจะมาจากประเทศใด ชุมชนใด สีผิวใด เพศใด รวยหรือจน มีการศึกษาหรือไม่ ทุกคนสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีศีลมีธรรมได้ด้วยกันทั้งนั้น
การดำเนินชีวิตอย่างมีศีลธรรม ด้วยจิตที่มีระเบียบวินัยและจิตที่บริสุทธิ์เปี่ยมด้วยความรักและความเห็นอกเห็นใจนี้ ไม่ได้ผูกขาดกับศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นจุดมุ่งหมายของทุกศาสนา ไม่มีการแบ่งแยกตามลัทธินิกาย เป็นเรื่องสากลโดยแท้ ไม่เฉพาะเจาะจง
หากเราทุกคนดำเนินชีวิตตามแก่นแท้ของศาสนา ก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะเกิดความขัดแย้งหรือการเผชิญหน้ากันในหมู่ชาวโลก ไม่ว่าชนเหล่านั้นจะนับถือศาสนาใด ทุกคนในสังคมสามารถดำรงชีวิตได้อย่างสันติสุข สอดคล้องกลมเกลียว และมีความสุขอย่างแท้จริง โดยการปฏิบัติตามหลักธรรมคำสั่งสอนของศาสนา
หากแต่ว่ายังมีอีกด้านหนึ่งของศาสนา นั่นก็คือเปลือกนอกของศาสนา ซึ่งเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมต่างๆมากมาย ทำให้เกิดเป็นลัทธินิกายที่แตกต่างกันออกไป แต่ละลัทธินิกายก็มีความเชื่อในตำนานและปรัชญาของตัวเอง ซึ่งได้กลายเป็นกฎเกณฑ์ ความศรัทธา และความเชื่อที่มืดบอด
ตรงข้ามกันกับความเป็นเอกภาพของแก่นแท้ของศาสนา เปลือกแข็งด้านนอกนี้มีความหลากหลายมาก แต่ละศาสนานิกายมีการจัดกลุ่มทำพิธีกรรมตามลัทธิ ความเชื่อ และหลักคำสอนของตนเอง โดยปกติแล้วผู้ที่นับถือศาสนาแต่ละนิกายผูกพันกับพิธีกรรม ความศรัทธา และหลักคำสอนของตนเองอย่างเหนียวแน่น ว่าเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ถึงความหลุดพ้น ผู้ที่หลงทางดังกล่าวนี้อาจไม่มีแม้แต่ร่องรอยของศีลธรรม ความรัก ความเห็นอกเห็นใจ และความปรารถนาดีต่อผู้อื่น แต่กลับรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ที่เคร่งศาสนา เพราะเขาได้ประกอบพิธีกรรมต่างๆอย่างเคร่งครัด หรือเพราะเขามีศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยมตามความเชื่อนั้นๆ แท้จริงแล้วเขาหล่านั้นกำลังหลอกตัวเอง และไม่ได้รับผลอันประเสริฐจากการปฏิบัติตามแก่นแท้ของศาสนา
แล้วยังมีส่วนที่เลวร้ายที่สุดของเปลือกนอกนี้
ผู้ที่ยึดมั่นในศรัทธาของตนเองอย่างแรงกล้ามีความเชื่อมั่นว่า ผู้ที่นับถือศาสนาลัทธินิกายอื่น ล้วนเป็นผู้ที่ไม่มีศรัทธา ดังนั้นจึงไม่มีวันที่จะได้พบกับหนทางแห่งความหลุดพ้นเป็นแน่แท้ พวกเขาเชื่อมั่นอย่างมากว่าการเปลี่ยนคนอื่นให้หันมานับถือศาสนาของตนนั้นเป็นบุญกุศลอันใหญ่ยิ่ง ดังนั้นจึงมีการใช้วิธีต่างๆในการบีบบังคับ
ศรัทธาความเชื่อที่มืดบอดของผู้ที่นับถือศาสนาต่างๆ เช่นนี้ มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นลัทธิความเชื่อพื้นฐานที่คลั่งไคล้ นำไปสู่ความขัดแย้งรวมถึงการเผชิญหน้ากันที่รุนแรง จนสามารถเกิดเป็นสงครามและการนองเลือดขึ้น ส่งผลให้เกิดความทุกข์ยากอย่างมหาศาลในสังคมที่ความสงบสุขและความปรองดองถูกทำลายไปหมด และการกระทำทั้งหมดนี้ทำในนามของศาสนา ช่างเป็นความโชคร้ายอันยิ่งใหญ่สำหรับโลกมนุษย์นี้
ยิ่งเปลือกนอกของศาสนามีความสำคัญมากเท่าใด คุณธรรมซึ่งเป็นแก่นแท้ภายในก็จะสูญหายไปมากเท่านั้น
บางครั้งผู้คนรู้สึกว่าศาสนาไม่สามารถจะเป็นศาสนาได้ถ้าได้หากปราศจากเปลือกนอกนี้ แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาก็ตาม แต่จากประสบการณ์ทั้งในอดีตและในปัจจุบันของการปฎิบัติอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ปฏิบัติเป็นผู้ที่มีคุณธรรมอย่างแท้จริง การปฎิบัตินี้มีชื่อว่าวิปัสสนากรรมฐานเป็นการปฎิบัติที่ให้ความสำคัญต่อแก่นแท้ของศีลธรรมทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่สนใจเปลือกนอกโดยสิ้นเชิงนี้